การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย(EST:Exercise Stress Test)

 

         เป็นการตรวจหา ภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ที่มีการตีบหรือขาดเลือดเป็นสำคัญ หรือ อาจใช้ตรวจหาการเต้นผิดจังหวะ ที่เกิดร่วมกับการออกกำลังกายอีกด้วย การทดสอบชนิดนี้ ใช้ในการวินิจฉัยแยกโรคในผู้ป่วย ที่มีอาการเจ็บ แน่นหน้าอกได้เป็นอย่างดี หลักการ คือ ผู้ที่ต้องการตรวจ ออกกำลังกาย โดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอจะเกิดอาการแน่นหน้าอก และมีการเปลี่ยนแปลง ของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น การทดสอบนี้ ยังช่วยบอกแพทย์ด้วยว่า ผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่ และใช้ในการติดตามผู้ป่วย ภายหลังได้รับการรักษา ไม่ว่าจะด้วยยา หรือ การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด

 

การเตรียมตัวก่อนการทดสอบ

 

  1. ควรงดน้ำอาหาร ชา กาแฟ งดสูบบุหรี่ ประมาณ 2 ชม. ก่อนการทดสอบ                                     2. ควรสอบถามแพทย์ ถึงยาที่รับประทานอยู่ประจำว่าควรหยุดก่อนการทดสอบหรือไม่ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือยาขับปัสสาวะ เป็นต้น ยาบางชนิด อาจจำเป็นต้องหยุดก่อนตรวจล่วงหน้า                                      3. ควรสวมเสื้อผ้าที่เหมาะสมต่อการทดสอบ เสื้อควรเป็นเสื้อที่มีกระดุมเปิดด้านหน้า เพื่อสะดวกในการเตรียมต่อขั้ว และสายไฟ ถ้าเป็นรองเท้าผ้าใบจะช่วยให้การเดินทดสอบสะดวกยิ่งขึ้น

 

ผู้ทดสอบทุกราย จะต้องลงชื่อในใบยินยอมเพื่อรับการทดสอบ ก่อนการทดสอบทุกครั้ง

 

ลักษณะการตรวจ EST

 

1. เจ้าหน้าที่เตรียมผิวหนังตามตำแหน่งที่แพทย์ต้องการโดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ทำความสะอาด

 

2. ทำการติดขั้วไฟฟ้า (electrode) จำนวน 10 จุด

 

3. ท่านจะได้รับการติดสายลีด (Lead) เพื่อวัดกราฟหัวใจจำนวนมากที่หน้าอก ทั้งขั้วไฟฟ้าและสายลีดไม่มีอันตรายและไม่เกิดความเจ็บปวดต่อท่าน

 

4. พยาบาลสอนการเดินบนสายพานของเครื่องวิ่งออกกำลังกาย จะทดสอบจนท่านปฏิบัติได้

 

5. ก่อนตรวจมีการวัดความดันโลหิต 3-4 ครั้ง

 

6. เครื่องมีสายพานเลื่อนความเร็ว และปรับความชันตามมาตรฐานการทดสอบ

 

7. ขณะท่านเดินหรือวิ่งแพทย์ พยาบาลจะพูดคุยกับท่าน หากมีอาการเมื่อย เหนื่อย แน่นหน้าอก ให้แจ้ง

 

8. ขณะทดสอบมีการวัดความดันโลหิต และบันทึก กราฟหัวใจเป็นช่วง ๆ

 

9. เมื่อท่านไม่สามารถเดิน หรือวิ่งต่อไปได้หลังจากตั้งใจเต็มที่แล้วให้แจ้งล่วงหน้าประมาณ 1 นาที แพทย์อาจต่อรองให้ทำต่อ ถ้าไม่ไหวจริง ๆไม่ต้องฝืน

 

10. การหยุดทดสอบมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป คือสายพานจะค่อย ๆ ปรับลดลงในแนวราบ ความเร็วจะหยุดนิ่งภายในเวลา 1 นาที

 

11. การวัดความดันและการบันทึกกราฟหัวใจยังทำต่อไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 6-10 นาที

 

12. ผิวหนังที่ติดขั้วไฟฟ้าอาจรู้สึกคัน ให้ทาด้วยโลชั่นทาผิว

 

13. ส่วนมากแพทย์จะอ่านผลการตรวจ และแจ้งผลให้ท่านทราบทันที

 

14. การตรวจใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1 ชั่วโมง

 

ข้อควรระวังขณะตรวจ

 

 ถ้ามีความรู้สึกผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

 

1.มึนงง เวียนศรีษะ

 

2.รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ หายใจไม่ออก

 

3.รู้สึกอึดอัดบริเวณหน้าอก แขนหรือขากรรไกร ปวดหรือเป็นตะคริวที่ขา

 

ข้อควรระวังหลังการตรวจ 

 

หากพบอาการเจ็บแน่นหน้าอก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์โดยด่วน